ประวัติตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
แสนยาวิราช (ขุนงอบ อินทะรังษี) ผู้ปกครองเมืองงอบ ปี 2455 2475
ชื่อบ้านงอบนี้ ใครตั้งไม่ทราบประวัติ
แต่สันนิษฐานว่าไม่ใช่หมายถึงหมวกตามที่พจนานุกรมกล่าวแน่นอน เพราะคำว่า งอบ นั้นเป็นภาษาไทยกลาง ชาวบ้านในท้องถิ่นไม่ได้เรียกว่างอบ แต่เรียกหมวกทีมีลักษณะดังกล่าวว่า กุ๊บ ผู้มีอายุในหมู่บ้านได้ให้ความเห็นว่า คำว่างอบ อาจเอาชื่อของหมู่บ้านเดิมที่อพยพมา หรืออาจแผลงมาจากคำว่า ง่อม ซึ่งแปลว่าเงียบเหงา ก็ได้ เพราะสมัยก่อนมีคนน้อย คงจะเงียบเหงา ก็เลยเรียกว่าหมู่บ้านง่อม

เมื่อนานเข้ามีผู้คนมากขึ้นไม่ง่อมเหมือนเมื่อก่อน ๆ แล้ว
ก็เลยเปลี่ยนชื่อมาเป็นงอบ ซึ่งคล้ายกับชื่อเดิม
หรือไม่ก็เพี้ยนมาเป็นงอบตามวิวัฒนาการทางภาษา
หมู่บ้านงอบ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ หมู่บ้านหนึ่ง สมัยก่อนเรียกติดปากกันว่า เมืองงอบ
ประชาชนมีเชื้อสายไทลื้อ พูดภาษาไตลื้อกันทั่วทั้งหมู่บ้าน
สมัยก่อนเป็นหมู่บ้านเดียวในอำเภอทุ่งช้างที่พูดภาษาไตลื้อ
ปัจจุบันได้แยกไปอยู่ที่ หมู่ที่ ๔ (บ้านทุ่งสุน) อีก ๑
หมู่บ้านประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน อพยพมาจากที่ใดเมื่อไร
นั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ได้แต่เล่าลือสืบต่อกันมาว่ามาจากสิบสองปันนา
มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ภาษาพูดคล้ายกับชาวยองในจังหวัดลำพูน
ผู้สืบเชื้อสายไทลื้อในหมู่บ้านได้พยายามสืบค้นหาหลักฐาน เอกสาร ตำรา
ร่องรอยหลายแห่งก็ไม่สามารถชี้ชัดได้
ซึ่งมีผู้สืบค้นและเขียนประวัติของชนชาติไทลื้อไว้หลายเล่ม เช่น หนังสือ ลื้อคนไทยในประเทศจีน
ได้กล่าวถึงตัวอักษรของชาวไทลื้อและวรรณคดีไทลื้อ สุภาษิตที่สำคัญ
แบบแปลนบ้าน อาหาร เครื่องดึ่ม ความเป็นอยู่ในครอบครัว
การตั้งชื่อเด็กหญิง,ชายตามลำดับขั้น การนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาผี
ประเพณีลอยกระทง พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน การละเล่นในเทศกาลต่าง ๆ
การเกี้ยวพาราสีระหว่างคนหนุ่มสาว การล่าสัตว์
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชาวไทลื้อบ้านงอบ จะตรงกันเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ในหนังสือ ชาติวงศ์วิทยา ว่าด้วยชนชาติเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย
ได้กล่าวถึงชนชาติเผ่าต่าง ๆ มีตอนหนึ่งกล่าวถึงไทลื้อว่า
ถิ่นฐานของพวกไทลื้อส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง
แต่ก็มีมากที่อพยพมาอยู่ยังฝั่งไทย โดยเฉพาะในจังหวัดลำพูน ลำปาง เชียงราย
แพร่และน่าน ในหนังสือเรื่อง งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย
ของหลวงวิจิตรวาทการ มีการกล่าวถึงชาวไทลื้อมีใจความสำคัญคือ ลื้อเป็นคนไทย มิใช่เป็นคนชาวป่าชาวดอย
พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงชาวไตลื้อ ไว้ในหนังสือ ไทย-จีน ว่า
ชาวไทลื้อ เป็นคนไทยที่รู้จักหนังสือ
มีดินแดนดั้งเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา
ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ระหว่างพม่ากับอ่าวตังเกี๋ย
การแบ่งแคว้นสองปันนาออกเป็นเมืองใหญ่ถึง ๒๘ เมือง
นอกจากนี้ ในปริญญานิพนธ์เรื่อง วรรณกรรมไทลื้อ ของชำนาญ รอดเหตุภัย ได้เขียนประวัติการอพยพของชาวไตลื้อว่า
ชาวไทลื้อมีภูมิลำนาอยู่แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน
อพยพมาอยู่ในประเทศไทยหลายครั้ง
สาเหตุการอพยพก็เพราะบางแห่งในถิ่นเดิมทุรกันดาร ไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน
ถูกโจรปล้นสดมรบกวน
ได้รับการกดขี่ข่มเหงจากชนชาติผู้ปกครองคือจีนฮ่อและพม่า
จึงได้อพยพเข้ามาตอนเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงราย
ไทลื้อบางพวกได้ถูกกวาดต้อนลงมาเนื่องจากราชวงศ์คำมั่นเมืองเชียงใหม่
พระยาอุปราชหมูล่าเมืองลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงรุ้งของไทลื้อ ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของพม่า
ได้รบพุ่งกันหลายครั้ง ในที่สุด
เจ้าเมืองเชียงรุ้งกับท้าวพระยาสิบสองปันนาก็ยอมอ่อนน้อมขอขึ้นอยู่กับพระราชอาณาจักรไทย
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ (จ.ศ.๑๒๑๘) ไทยได้กวาดต้อนเอาครอบครัวไตลื้อจาก เมืองพง
เมืองหย่วน เมืองล่า แห่งแคว้น สิบสองปันนา มาไว้ในเขตนครน่านประมาณ
พันคนเศษ
สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เขียนบทความเรื่อง คนไทยที่สิบสองปันนา
ในหนังสือ
ข่าวครูไทยในโอกาสที่ได้รับเชิญไปแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย-จีนว่า
ชาวไตลื้อ นอกจากมีดินแดนกว้างใหญ่อยู่ที่ สิบสองปันนาแล้ว
ยังกระเซ็นกระสายอพยพโยกย้ายและถูกกวาดต้อนมาเพราะการสงครามแต่ก่อน
ลงมาอยู่ ที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ก็มี จังหวัดน่านก็มี
ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าเคยถูกกวาดต้อนลงไปที่ภาคใต้ก็มี
ทุกวันนี้ชาวไตลื้อในเขตสิบสองปันนาแม้จะอยู่ในดินแดนของจีน
แต่ทางการของจีนก็ให้เป็นเขตปกครองตนเอง
มีประธานคณะกรรมการเป็นชาวไตลื้อด้วยกันและในพงศาวดารเมืองน่าน
ได้กล่าวถึงเรื่องเจ้าหลวงสุมนเทวราช
ผู้ครองนครน่านยกทัพขึ้นไปตีสิบสองปันนาไว้ดังนี้
- เถิงจุลศักราชได้ ๑๑๗๓ เดือน ๖ ลง ๑๓ ค่ำ
อาชญาเจ้าหลวงสุมนเทวราชท่านก็ยกเอาพลนิกายโยธาทั้งหลาย
ขึ้นเมือตีเอาเมืองล้า เมืองพง ก็ได้ยกรี้พลปงทัพไชยอยู่ท่าขึ้เหล็ก ฯ
- เถิงจุลศักราชได้ ๑๑๗๔ ตัวเดือน ๓
อาชญาเจ้าหลวงท่านก็กวาดเอาคนครัวเมืองล้า เมืองพง เชียงแขง เมืองหลวงภูคา
ลงมาไว้เมืองน่านมีคน ๖๐๐๐ คนหั้นแล ฯ
- เถิงจุลศักราชได้ ๑๑๗๕ ตัวปีกาเล้า อาชญาเจ้าหลวงท่านก็ล่าถอยกองทัพลงมาเถิงเมืองน่านเดือน ๘ หั้นแล
ตามตำนานที่กล่าวขานสืบต่อกันมาในบรรพบุรุษของหมู่บ้าน
ประกอบกับหลักฐานงานเขียนที่ได้อ้างอิงมา
ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมของหมู่บ้านในปัจจุบัน พอสรุปได้ว่า
คงจะอพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาค่อนข้างแน่นอน แต่จะมาในสมัยใด เมืองใด
นั้นไม่อาจทราบได้ อาจมาในคราวที่เจ้าหลวงสุมนเทวราช
ผู้ครองนครน่านยกทัพไปตีสิบสองปันนา และกลับมาถึงเมืองน่านในปี จุลศักราช
๑๑๗๕ ก็เป็นได้ เพราะปีจุล-ศักราช ๑๑๗๕ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๕๖
ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และหลักฐานเท่าที่ปรากฏ มีครูบาอินต๊ะวิชัย เจ้าอาวาสวัดศรีดอนชัยองค์หนึ่ง
เขียนไว้ในธรรมคัมภีร์ใบลาน เป็นภาษาพื้นเมืองล้านนาโบราณ ระบุปี จ.ศ.
๑๑๘๕
ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเจ้าหลวงสุมนเทวราชกวาดต้อนคนลื้อมาจากสิบสองปันนาได้
๑๐ ปีพอดี ว่าท่านมาจากเมืองหลวงภูคา
และบรรยายถึงวัดศรีดอนชัยไว้ส่วนหนึ่งว่า
เขียนแล้วปางอยู่เมตตาวัดศรีดอนชัยงอบนาล้อมแก้วกว้าง
ซึ่งขณะนี้คัมภีร์ยังเก็บรักษาไว้ที่วัดศรีดอนชัย ตำบลงอบ ก็คงเป็นหน้าที่ของลูก หลาน เหลนของชาวไตลื้อ บ้านงอบ ที่จะต้องช่วยกัน สืบค้นหา ที่มาของบรรพบุรุษต่อไป |